ตำนาน ตราเสือ (ไทเกอร์ บาล์ม)

อดีต – ปี 1969 (พ.ศ. 2512)
จากกระปุกหกเหลี่ยมสู่ตำนาน ไทเกอร์ บาล์ม

ย้อนไปเมื่อศตวรรษที่ 19…

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้อยู่ที่เมืองร่างกุ้ง (ย่างกุ้ง) ประเทศพม่า (เมียนมาร์) เมื่อโฮ้ว (胡文虎) และป่า (胡文豹) สองพี่น้องเกิดไอเดียที่ชาญฉลาดในการทำธุรกิจ.

ในช่วงทศวรรษ 1800 โอ ชู กิง (胡子钦) บิดาของพวกเขา ซึ่งเป็นบุตรชายคนเล็กของแพทย์สมุนไพรแห่งเซียะเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน เดินทางไปเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า เพื่อแสวงโชค ต่อมาเขาได้ก่อตั้งกิจการโรงหมอและร้านขายยาตำรับที่เขาปรุงขึ้นเองขึ้น มีชื่อว่า อัน เอิน ตง (永安堂) หรือ แปลว่า “หอแห่งสันติภาพนิรันดร์” ควบคู่ไปกับการลงหลักปักฐานสร้างครอบครัว.

บุ้น โฮ้ว ที่หมายถึง “เสือผู้อ่อนโยน” และบุ้น ป่า ที่หมายถึง “เสือดาวผู้อ่อนโยน”

บุ้น โฮ้ว (หรือเสือผู้อ่อนโยน) เกิดในปี 1882 และถูกส่งกลับไปเรียนหนังสือในประเทศจีน ส่วนบุ้น ป่า (หรือเสือดาวผู้อ่อนโยน) ซึ่งเกิดในปี 1888 ได้เข้าเรียนในโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษในประเทศพม่าซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ.

ในปี 1908 หลังจาก ชู กิง ผู้เป็นบิดาถึงแก่กรรม บุ้น ป่า ได้รับช่วงสืบทอดกิจการของครอบครัว แต่ทว่าเสือดาวผู้อ่อนโยนผู้นี้ ไม่อาจแบกรับภาระหน้าที่ทั้งหมดไว้ได้เพียงลำพัง จึงขอร้องให้พี่ชายเดินทางกลับมาจากประเทศจีน เพื่อช่วยกันดูแลกิจการของครอบครัวในเมืองย่างกุ้ง.

“ฉันจะศึกษาเกี่ยวกับยาแผนตะวันตก ส่วนพี่มีหน้าที่จ่ายยาแผนจีน ทำงานร่วมกันแบบนี้เราจะไม่เสียคนไข้ไปแม้แต่รายเดียว เพราะคนไข้เลือกได้ว่าอยากจะรักษาแบบตะวันออกหรือตะวันตก เลือกแบบไหนเราก็ได้ทั้งสิ้น”บุ้น ป่า น้องชายเสนอไอเดียอันเฉลียวฉลาดให้พี่ชายฟัง

ตกลงกันดังนั้นแล้ว สองพี่น้องจึงร่วมมือกันทำงาน และสร้างเนื้อสร้างตัวจนร่ำรวยด้วยการจำหน่ายขี้ผึ้งขวดเล็กๆ ที่สามารถรักษาได้สารพัดโรค.

ที่มาของสูตรยาไทเกอร์ บาล์ม

สูตรตำรับยาขี้ผึ้งของไทเกอร์ บาล์ม ปรากฏขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน เนื่องจากองค์จักรพรรดิต้องการหาวิธีบรรเทาอาการเจ็บปวดจากการความเครียดในการพิจารณาคดี ซึ่งสูตรยาดังกล่าวน่าจะสูญหายไปพร้อมกับราชวงศ์แล้ว หากไม่ได้โอ ชู กิง ผู้เป็นบิดารื้อฟื้นสูตรยาโบราณนี้มาปรับปรุงใหม่.

หลังจากนั้น บุตรชายของเขาได้นำสูตรของบิดามาปรับปรุงให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น โดยใช้ห้องครัวของมารดาเป็นที่ปรุงยา บุ้น ป่า เสือดาวที่มีบุคลิกเงียบขรึมรับหน้าที่ผลิตยา ในขณะที่เสือผู้พี่ที่ชอบเข้าสังคมอย่าง บุ้น โฮ้ว อาสาเป็นผู้จัดการระบบต่างๆ พวกเขาช่วยกันคิดค้นและผลิต “Ban Kim Ewe” (万金油) หรือยาหม่องเสือขึ้น (ซึ่งเดิมใช้ชื่อ Ten Thousand Golden Oils) ยานี้มีสรรพคุณพิเศษที่ใช้เยียวยาความเจ็บป่วยได้ทุกรูปแบบ และไม่มีลูกค้าคนไหนที่มา ร้านยาของสองพี่น้องแล้วไม่ถือขี้ผึ้งสีทองขวดเล็กๆ นี้ติดมือกลับไป เมื่อได้รับความนิยมมากขนาดนั้นแล้ว ด้วยสัญชาติญาณนักล่าของเสือ บุ้น โฮ้ว ผู้เป็นพี่จึงออกไปติดต่อร้านของชาวจีนทุกร้านในเมืองเพื่อชักชวนให้พวกเขาขายยาหม่อง.

บุ้น โฮ้ว ลงใต้ สำรวจตลาดในคาบสมุทรมลายูและประเทศสิงคโปร์

ต่อมา บุ้น โฮ้ว เริ่มคิดสร้างเครื่องหมายการค้า ซึ่งคงไม่มีอะไรดีไปกว่าการใช้ชื่อของพวกเขาเอง ไทเกอร์ บาล์ม หรือ ตราเสือ จึงถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 1909 ในปี 1920แม้ บุ้น โฮ้ว ยังอายุไม่ถึง 40 ปี แต่ก็ประสบความสำเร็จจนกลายเป็นคนจีนที่ร่ำรวยที่สุดในย่างกุ้ง ด้วยนิสัยของบุ้น โฮ้ว ที่เป็นคนกล้าได้กล้าเสีย ทำให้เขาเริ่มเดินทางลงใต้เพื่อไปสำรวจตลาดในแถบมลายูและสิงคโปร์เพิ่มเติม บรรยากาศการค้าขายที่มีชีวิตชีวาในเมืองต่างๆ บนคาบสมุทรมลายู และท่าเรือที่คึกคักของสิงคโปร์ สร้างความตื่นเต้นให้กับเขาเป็นอย่างมาก และเมื่อเขาเห็นเงินของสิงคโปร์ที่มีรูปเสือคำรามอยู่ในลายน้ำ เขาก็ตัดสินใจได้ในทันที.

เขาย้ายถิ่นฐานไปสิงคโปร์ในปี 1926 อัน เอิน ตง จึงไปอยู่ในเขตท่าเรือที่พลุกพล่านที่สุดของภูมิภาค โรงงานที่ใหญ่และทันสมัยกว่าเดิมถูกสร้างขึ้นบนถนน Neil Road โดยมีกำลังการผลิตมากกว่าที่ย่างกุ้งถึงสิบเท่า ว่ากันว่าช่วงนั้น โอ บุ้น โฮ้ว มักจะเดินทางไปตามเมืองเล็กๆ ในมลายูด้วยรถยนต์ที่เขาสั่งทำขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งมีหัวเสืออยู่ด้านหน้าและมีแตรที่เสียงดังเหมือนเสือคำราม และชาวบ้านจำนวนมากที่ออกมามุงดูจะได้รับตัวอย่างยาหม่องตราเสือ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ไปทดลองใช้.

จากวันวานสู่วันนี้

หลังจากที่บุ้น โฮ้ว ประสบความสำเร็จและมีฐานะร่ำรวยยิ่งขึ้น เขาได้ขยายธุรกิจออกไปในหลายประเทศ โดยมีโรงงานและตัวแทนจำหน่ายถาวร ทั้งในพื้นที่คาบสมุทรมลายู ฮ่องกง ปัตตาเวีย (จาการ์ตา) รวมถึงเมืองต่างๆ ในประเทศจีนและไทยด้วย.

บุ้น ป่า ถึงแก่กรรมในประเทศพม่าในปี 1944 ส่วนบุ้น โฮ้ว จากไปด้วยอาการหัวใจวายในปี 1954 เมื่ออายุ 72 ปี ขณะที่กำลังมุ่งหน้าไปยังฮ่องกงหลังจากที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ในบอสตันได้ไม่นาน จากนั้น โอ เชิง เช (Aw Cheng Chye) บุตรชายของบุ้น ป่า เป็นผู้เข้ามาสืบทอดกิจการต่อ โดยในปี 1969 ธุรกิจส่วนใหญ่ของครอบครัวอยู่ภายใต้บริษัทที่มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสิงคโปร์และมลายูในชื่อ Haw Par Brothers International Limited*.

* ต่อมาในปี 1977 Haw Par Brothers International Limited จึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Haw Par Corporation Limited (โฮ้ว ป่า คอร์เปอเรชั่น)

สถานที่จำหน่าย